การบริหารเงินชดเชยจากการเลิกจ้าง

 

ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจแต่ละครั้ง​ บริษัทต่าง​ ๆ​ มีความจำเป็นต้องมีการปรับตัว​ บางแห่งเลิกกิจการ​ บางแห่งขายกิจการบางส่วน​ บางแห่งปลดพนักงานหรือเลิกจ้าง​ โดยเฉพาะพนักงานในกลุ่มสายการบินที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งการบินไทย นกแอร์ บางกอกแอร์เวยส์ ไลอ้อนแอร์ และแน่นอนว่าพนักงานที่ถูกปลดออกมาจะต้องได้รับเงินชดเชยก้อนหนึ่ง ไม่มากก็น้อย ซึ่งการยุติการทำงานแบบนี้ หลายคนเต็มใจ หลายคนจำใจ ไม่ว่าจะด้วยภาระที่บ้านหรือเหตุใดก็ตาม

 

ในการลาออกจากบริษัทในแต่ละครั้งนั้น ผมเชื่อว่าเราจะเกิดความกังวลใจอยู่หลายเรื่อง แต่เชื่อว่าหลัก ๆ แล้วคงเป็นเรื่องเงิน เช่น ความไม่มั่นคงของรายได้ สวัสดิการที่เคยได้รับสิ้นสุดลง ดังนั้น วันนี้ผมจึงอยากแบ่งปันเรื่องการบริหารเงินหลังจากเราเลิกเป็นพนักงานประจำให้กับพี่ ๆ น้อง ๆ ตามนี้ครับ

 

1. รู้รายจ่ายตัวเอง

สำหรับผม การรู้รายจ่ายตัวเอง เป็นสเต็ปแรกที่สำคัญที่สุด เราต้องแยกรายจ่ายของเราออกมาให้ได้ว่า ค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่ายมีอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายผันแปรที่ต้องจ่ายมีอะไรบ้าง ทบทวนยกเลิกรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก เอาง่าย ๆ ครับ ค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่ต้องจ่ายนั้นน้อยสุดกี่บาท

 

2. บริหารหนี้สิน

ลำดับรายการหนี้ จากยอดน้อยไปยอดมาก ดอกมาก ไปดอกน้อย และอย่าพึ่งทำอะไรจนกว่าจะอ่านจบ

 

3. บริหารเงินตามแนวทางต่อไปนี้


3.1 เก็บเงินสดสำรอง ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่อเดือนของคุณเป็นเวลา 3-6 เดือน เช่น หากมีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 30,000 บาท ควรเก็บเงินสด 90,000 - 180,000 บาท (ส่วนตัวแนะนำ 6 เดือน)
3.2 บริหารความเสี่ยงทางการเงิน เพราะเงินจากอันดับหนึ่ง สำรองไว้กินใช้เท่านั้น ห้ามเจ็บ ห้ามป่วย ห้ามไข้ เพราะหากเกิดการเจ็บป่วยกระทันหัน ชีวิตจะลำบาก โดยเน้นการบริหารความเสี่ยง 3 เรื่อง คือ เจ็บหนัก ป่วยนาน โรคร้าย ส่วนเรื่องตายและเกษียณ ปล่อยมันไว้ก่อน ตอนนี้ต้องรอด อนาคตรอข้อ 3.3 นิ่งค่อยว่ากันต่อ
3.3 ถามตัวเองว่า ต่อไปนี้จะหารายได้จากอะไร อยากเป็นเจ้าของธุรกิจเล็ก ๆ หรือ อยากเป็นลูกจ้างต่อ ถ้าอยากเป็นเจ้าของ ให้กันเงินส่วนหนึ่งเป็นทุนในการเปิดร้าน ส่วนที่เหลือ ปิดหนี้บางส่วนหรือทั้งหมด แต่หากยังมองการเป็นลูกจ้าง การปิดหนี้ให้พิจารณาปิดหนี้ก้อนเล็กที่ดอกสูง (เช่น หนี้บัตร หนี้นอกระบบ) ให้ได้มากที่สุด และหารายได้จากทางใหม่โดยด่วน 
3.4 ต่อรองกับธนาคาร ขอพักชำระหนี้บ้าน หนี้รถ ทุ่มเทให้กับการหารายได้ หลังจากนิ่ง ค่อยกลับมาชำระปกติ แต่ ๆ ๆ อย่าหายไปเลยนะครับ เดี๋ยวจะโดนเครดิตบูโร (ห้ามเสียเครดิตเป็นอันขาด)

 

4. เปิดใจพูดคุยเรื่องเงิน

กำลังใจเป็นเรื่องสำคัญ พูดคุย เปิดใจกับครอบครัว หากคุณไม่มีรายได้ แต่ครอบครัวพอช่วยได้ ครอบครัวเป็นแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำกว่าการกู้ยืมแน่นอนครับ และอีกอย่างหนึ่ง คือ ถ้าเราไม่ได้บอกกับครอบครัวเราไว้ เขาอาจจะใช้เงินแบบไม่ได้ระมัดระวัง เพราะคิดว่าเดือนหน้าก็ยังมีเงินเดือน ถ้าไม่เปิดใจ จนลามปามไปถึงขั้นต้องไปกู้นอกระบบ ชีวิตอาจจะลำบากกว่าการพูดคุยกับครอบครัวนะครับ

 

5. อย่าเศร้า

คุณมีครอบครัวต้องดูแล เปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกเป็นพลัง หันไปมองครอบครัวครับ เขาคือคนที่คุณรัก และต้องการมอบสิ่งดี ๆ ให้มองโลกในแง่ดีเนอะ การเปลี่ยนงาน คือ การเริ่มใหม่ในหนทางชีวิตที่เราลิขิตเองได้อีกครั้ง อาจตกอกตกใจ สะดุ้งสะเทือนในช่วงแรก แต่ถ้าบริหารเงินได้ดี คุณจะผ่านมันไปได้อย่างสวยงาม แต่ ๆ ๆ อย่ามัวแต่ใช้เงิน Package จนลืมตัว เงินหมดแล้วค่อยหารายได้ล่ะครับ 

 

จากใจคนลาออกก่อน

 

ใครอยากระบาย ปรึกษา พูดคุย ทั้งเรื่องชีวิตหลังลาออกและเรื่องอื่น ๆ ก็ลงชื่อไว้โดยคลิกลิงค์ตามรูปด้านล่างได้เลยครับ

#เราจะผ่านมันไปด้วยกัน