หากใครจำบทความก่อนของกูดูที่เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดเป็นสภาพคล่องในยามฉุกเฉิน ในบทความ "บัตรพลาสติก สภาพคล่องยามจำเป็น : บัตรเครดิต VS บัตรกดเงินสด" ได้ วันนี้กูดูกับเจ้ฮวยจึงจัดศึกมวยคู่เปิดตัวสำหรับคอลัมม์ส่วนตัวของเราสองคน หลาย ๆ คนที่ดูมวย น่าจะรู้กันนะครับว่ามวยคู่แรกจะยังไม่มันส์เท่ามวยคู่เอก กูดูก็ขอติดตามกันต่อไปนะครับ
สิ่งที่กูดูได้พบจากการวางแผนการเงินให้กับลูกค้าและน้อง ๆ หลายคน (ได้เงินบ้าน ฟรีบ้าง) คือ คนส่วนใหญ่มองข้ามเรื่องของความเสี่ยง โดยไม่คิดว่าชีวิตของเราจะเจอกับเรื่องราวไม่คาดฝัน ทั้งการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ โรคร้าย หรือแม้แต่การมีชีวิตอยู่นานเกินไป ทำให้เมื่อความเสี่ยงนั้นมาถึง หลาย ๆ คนไม่พร้อมที่จะรับความเสี่ยงเหล่านั้น จนแผนการเงินที่วางไว้ (หรือไม่ได้วางไว้) พังทลายลงต่อหน้า อย่างในช่วงโควิดที่เราได้ลอง “ซ้อมเกษียณ” จนมีโอกาสนึกทบทวนแผนการเงินของตัวเองอยู่หลายตลบว่าในวันเกษียณหากไม่เตรียมให้พร้อมจะอยู่อย่างไร
เมื่อพูดถึงเรื่องของการป้องกันความเสี่ยง หลาย ๆ คนอาจจะมองว่าต้อง “ทำประกัน” แต่จริง ๆ แล้ว เราสามารถรองรับความเสี่ยงทางการเงินได้หลายวิธี ได้แก่ ยอมรับ บรรเทา หลีกเลี่ยง ถ่ายโอน หากเอาวิธีการมาจับคู่กับผลิตภัณฑ์ก็จะได้รูปประมาณนี้
จากรูป เราสามารถใช้ประกันเพื่อถ่ายโอนความเสียหายทางการเงินจากเหตุไม่คาดฝันไปให้บริษัทประกันรับแทน หรือเราสามารถเก็บเงินสดหรือสภาพคล่องเอาไว้ให้เพียงพอใช้จ่ายเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็ได้ ด้วยความที่มันอยู่กันคนละฟากฝั่ง กูดูเลยมองว่า จริง ๆ แล้วมันน่าจะมีผลิตภัณฑ์อะไรบางอย่าง ที่สร้างสภาพคล่องให้เราได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยไม่ต้องทำประกัน นั่งนึกอยู่พักหนึ่งคิดว่าบัตรกดเงินสดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้แทนประกันได้อยู่ในระดับหนึ่ง จึงเอาไปคุยกับเจ้ฮวย เจ้แกก็บอกว่ามันก็ได้นะ แต่อาจจะไม่ดี เถียงกันไปเถียงกันมา จึงสรุปได้ดังนี้
บัตรกดเงินสดเป็นบัตรที่ธนาคารเตรียมเงินสดไว้ให้เรา หากเรามีความจำเป็นต้องใช้เงินเราสามารถเอาบัตรไปกดเงินออกมาจากตู้เอทีเอ็มได้ทันที โดยคนที่ทำบัตรกดเงินสดได้นั้น หากมีเงินเดือนประจำประมาณ 12,000 – 15,000 บาท ก็สามารถทำบัตรกดเงินสดได้แล้ว บัตรกดเงินสดส่วนใหญ่แล้วไม่มีค่าธรรมเนียมหรืออาจขอยกเว้นได้ แต่ข้อเสีย คือ บัตรกดเงินสดคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันแรก ดอกเบี้ยประมาณ 28% ต่อปี ซึ่งก็อยู่ในระดับที่เรียกว่าสูงเลยทีเดียว
ประกันเป็นผลิตภัณฑ์การเงินที่เป็นสัญญาระหว่างคนทำประกันกับบริษัทประกันว่า ถ้าฉันยอมจ่ายเบี้ยประกันคุณ (เงินจำนวนน้อย) เมื่อเกิดเหตุตามที่ตกลงกันในสัญญา เช่น อุบัติเหตุ การเจ็บป่วย การเกษียณอายุ บริษัทประกันก็จะจ่ายเงินชดเชยให้ตามสัญญา (มากกว่าเบี้ยที่จ่ายไปมากอยู่ครับ) แต่เบี้ยประกันนี้ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายประจำที่เกิดขึ้นทุกปี ปีใดที่ไม่ได้จ่ายเบี้ยประกัน เราก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองครับ ซึ่งประกันก็มีหลากหลาย หากมองเฉพาะเรื่องสุขภาพ สนนราคาก็ตั้งแต่หลักพันปลาย ๆ ไปจนถึงหลักหมื่นหลักแสน แตกต่างกันไปตามอายุและความคุ้มครอง
หากเอาผลิตภัณฑ์สองอย่างมาเปรียบมวยกันในเรื่องของการเตรียมการรองรับความเสี่ยงแล้ว กูดูมองในประเด็นต่อไปนี้ครับ
ในมุมนี้ กูดูมองว่าประกันชนะขาดครับ เนื่องจากวงเงินที่ได้จากบัตรกดเงินสดนอกจากจะไม่เยอะมากแล้ว เงินที่กดมายังต้องใช้คืน บนดอกเบี้ยที่สูงอีกเช่นกันครับ แม้บัตรกดเงินสดหลายใบจะโฆษณาว่าให้วงเงินได้ถึงหลักล้าน แต่จริง ๆ สุดท้ายแล้วก็ผูกกับรายได้ของเราอยู่ดีครับ ส่วนประกันนั้นดีตรงที่เมื่อเกิดเหตุขึ้นบริษัทประกันจะชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาให้แทน ซึ่งโดยมากแล้วจะเป็นจำนวนสูงทีเดียวครับ อย่างประกันสุขภาพของกูดู ชำระเบี้ยประกันปีละประมาณ 60,000 บาท แต่เข้ารักษาได้ด้วยลงเงินสูงสุด 60 ล้านบาททีเดียวครับ ที่สำคัญไม่ต้องจ่ายคืนเหมือนบัตรกดเงินสดด้วย
ขออธิบายก่อนนะครับว่าความหมายของภาระการเตรียมวงเงินเผื่อฉุกเฉิน สำหรับกูดูในบทความนี้หมายถึง หากเราต้องการจะกันเงินไว้สักก้อนหนึ่งหากเกิดเหตุฉุกเฉินแล้ว ต้องจ่ายเงินเท่าไร ไม่ได้หมายถึงภาระที่ตามมาหลังการใช้เงินก้อนนั้นนะครับ (ซึ่งพูดไว้แล้วในข้อ 1) ในข้อนี้กูดูมองว่าบัตรกดเงินสดชนะประกันได้ขาดรอยเลยครับ เนื่องจากส่วนมากแล้วบัตรกดเงินสดจะไม่เก็บค่าธรรมเนียมรายปี หรือขอยกเว้นได้ แต่ประกันนั้นเราจะต้องชำระเบี้ยเป็นประจำครับ ไม่ว่าจะรายปี รายหกเดือน รายสามเดือน หรือรายเดือน ก็แล้วแต่จะตกลงกับบริษัทประกันครับ
อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ กูดูมองว่าบัตรกดเงินสดมีเงื่อนไขในการสมัครที่ง่ายกว่า เพราะประกันนั้นไม่ใช่ทุกคนจะทำได้นะครับ หากเรามีประเด็นสุขภาพไม่ดีหรือมีประวัติเจ็บป่วยมาก่อน การจะทำประกันสักฉบับหนึ่งอาจจะต้องผ่านขั้นตอนของการขอประวัติการรักษา การตรวจสุขภาพแบบง่าย ๆ ไปจนถึงการตรวจละเอียดกันเลยทีเดียวครับ ส่วนบัตรกดเงินสดนั้น คงไม่เคยมีใครสมัครแล้วต้องไปตรวจสุขภาพกันนะครับ นอกจากนี้ พูดกันตรง ๆ คนที่จะทำประกันได้ ต้องมีกระแสเงินสดเหลือพอที่จะจ่ายเบี้ยได้ แต่บัตรกดเงินสดนั้น เงินเดือนถึงก็สมัครได้แล้วครับ
หากจะให้กูดูสรุปว่าใครเป็นผู้ชนะ คงจะยาก เอาเป็นว่ากูดูแนะนำแบบนี้ละกันนะครับ
1. ทุกคนควรมีบัตรกดเงินสดเอาไว้ 1 ใบ แต่ทุกคนไม่ควรใช้บัตรกดเงินสด อย่างเช่นตัวกูดูก็พกบัตรกดเงินสดไว้ 1 ใบ พกมาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่เชื่อไหมครับ ยังไม่เคยใช้เลย กูดูใช้เพราะสมัครง่าย ใช้งานง่าย เมื่อจำเป็นจริง ๆ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่าย แต่ไม่เคยใช้ เพราะต้นทุนการใช้เงินมันสูงครับ
2. หากมีกระแสเงินสดที่เพียงพอ ควรทำประกันเอาไว้ให้เพียงพอในการจัดงานศพ รักษายามเจ็บป่วย และผจญกับโรคร้ายหรืออุบัติเหตุเป็นอย่างน้อยครับ เพราะในวันที่ต้อง “เจ็บหนัก ป่วยนาย ทำงานไม่ได้” เราคงไม่มีแรงมาทำงานใช้หนี้บัตรกดเงินสด ดอกเบี้ยมันจะบานทบต้นเอาครับ
3. หากถามว่าควรทำอะไรก่อน ระหว่างบัตรกดเงินสดกับประกัน กูดูคงต้องบอกว่าย้อนกลับไปดูข้อ 2 ครับ หากมีเงินเพียงพอ กูดูแนะนำทำประกันก่อน แล้วค่อยเดินไปทำบัตรกดเงินสดมันในวันเดียวกันนั่นแหละครับ เผื่อตอนที่ก้าวเท้าผิดออกจากประตูบ้านแล้วดันประสบอุบัติเหตุ ประกันจะได้จ่ายครับ แต่ถ้าไม่มีเงิน บัตรกดเงินสดก่อนเลยครับ เผื่อตอนที่ออกไปหาเงินมาทำประกันเกิดอุบัติเหตุยังจะพอหาเงินมารักษาตัวได้ แต่ต้องทนใช้หนี้หน่อยนะครับ
สำคัญสุด! บทความนี้ขออนุญาตงดดราม่าเรื่องสอนคนใช้บัตรกดเงินสดนะครับ เนื่องจากบทความนี้เน้นเรื่องการสมัครบัตรกดเงินสดไว้เป็น “แหล่งเงินสดยามฉุกเฉิน” ไม่ได้บอกให้เอามาใช้กดบริโภคกันมั่วซั่วนะครับ
สำคัญกว่า! หากใครสนใจทำประกัน อย่าลืมกรอกข้อมูลในลิงค์ด้านล่างได้เลยนะครับ เดี๋ยวทีมงานเจ้ฮวยแกจะติดต่อไปหา ไม่ซื้อไม่หาไม่เป็นไร ขอมีเคสให้น้อง ๆ เขาลับสมองประลองปัญญา จัดพอร์ทประกันให้พี่น้องดูนะครับ
และยังคงติดตามกูดูได้จากเพจ กูดูการลงทุน และ ติดตามเจ้ฮวยได้จากเพจ เจ้ฮวยรวยประกัน ได้เช่นเดิม สำหรับวันนี้กูดูขอลาไปก่อน แล้วบทความหน้าเจอกันในคอลัมม์ “หรือจะไฝว้” นะคร้าบ